คำสอนเทียมเท็จของ “ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง” (Prosperity Gospel)
สารบัญ : คำนำ - บทความคำสอนเทียมเท็จ - แนวทางการพิจารณาเรื่องการสอนผิด-เทียมเท็จในคริสตจักร
คำสอนเทียมเท็จหรือคำสอนผิดมีอยู่ตั้งแต่สมัยของพระเยซูและคริสตจักรในยุคแรก
ครั้งหนึ่งพระเยซูเองได้กล่าวเตือนสาวกของพระองค์ไว้ดังนี้ว่า
“และในเวลานั้น ถ้าผู้ใดจะบอกพวกท่านว่า ‘แน่ะ พระคริสต์อยู่ที่นี่’ หรือ ‘แน่ะ อยู่ที่โน่น’ อย่าได้เชื่อเลย ด้วยว่าจะมีพระคริสต์เทียมเท็จและผู้ทำนายเทียมเท็จหลายคนเกิดขึ้น ทำหมายสำคัญและการมหัศจรรย์ เพื่อล่อลวงผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรแล้วให้หลง ถ้าเป็นได้ แต่ท่านทั้งหลายจงระวังให้ดี ดูเถิด เราได้บอกท่านทั้งหลายไว้ก่อนแล้ว” (มาระโก 13:21-23)
และอัครสาวกเปโตรได้เตือนคริสตจักรในเวลานั้นไว้เช่นกันว่า
“แต่ว่าได้มีคนที่ปลอมตัวเป็นผู้เผยพระวจนะเกิดขึ้นในชนชาตินั้น เช่นเดียวกับที่จะมีผู้สอนผิดเกิดขึ้นในพวกท่านทั้งหลาย ซึ่งจะลอบเอามิจฉาลัทธิอันจะให้ถึงความพินาศเข้ามาเสี้ยมสอน จนถึงกับปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ได้ทรงไถ่เขาไว้ ซึ่งจะทำให้เขาพินาศโดยเร็วพลัน จะมีคนหลายคนประพฤติชั่วตามอย่างเขาและเพราะคนเหล่านั้นเป็นเหตุ ทางของสัจจะจะถูกกล่าวร้าย และด้วยใจโลภเขาจะกล่าวตลบแตลงค้ากำไรจากท่านทั้งหลาย การลงโทษคนเหล่านั้นที่ได้ถูกพิพากษานานมาแล้วจะไม่เนิ่นช้า และความวิบัติที่จะเกิดกับเขาก็หาสลายไปไม่” (2 เปโตร 2.1-3)
ดังนั้นคริสตจักรและผู้นำในปัจจุบันควรตระหนักและตื่นตัวในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันมีคำสอนที่ผิดแปลกไปจากคำสอนที่คริสตจักรยุคแรกได้เชื่อและสั่งสอนสืบทอดกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันคำสอนที่ขัดแย้ง หรือปราศจากข้อสนับสนุนจากพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่อันตรายและทำลายพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ คำสอนเหล่านี้บางครั้งปรากฏเพียงครั้งเดียวและไม่สามารถยืนยันจากที่อื่น ๆ ได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคำสอนผิดเหล่านี้ยังขัดแย้งกับคำสอนในเรื่องเดียวกัน ในตอนอื่น ๆ ของพระคริสตธรรมคัมภีร์
บทความจากคณะกรรมการศาสนศาสตร์ของกปท.ข้างล่าง จึงเป็นการจุดประกายที่สำคัญอันเนื่องจากการที่คริสตจักรของพระเจ้าตระหนักถึงความสำคัญในการเผชิญหน้ากับคำสอนผิด และผู้ที่นำคำสอนผิดมาเผยแพร่ ทั้งนี้มุ่งให้คริสตจักรยืนหยัดในความเชื่อที่ถูกต้องตามพระวจนะของพระเจ้า อันเป็นสิทธิอำนาจที่สูงสุดของคริสตจักร
1. ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง – Prosperity Gospel
บทสรุปการศึกษาโดยคณะทำงานศาสนศาสตร์โลซานสรุปคำสอนของ “ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง” (Prosperity Gospel) ดังนี้ ว่า “ผู้เชื่อมีสิทธิ์ที่จะได้รับพระพรด้านสุขภาพและความมั่งคั่งทางการเงิน และพวกเขาสามารถได้รับพระพรเหล่านี้โดยการประกาศยืนยันความเชื่อและการ‘หว่านเมล็ดพันธุ์’ ผ่านการถวายทรัพย์สินเงินทองอย่างสัตย์ซื่อ” ในคำสอนเท็จนี้ คริสเตียนทุกคนสามารถได้รับความเจริญรุ่งเรือง ที่เน้นเรื่องการกินดีอยู่ดี สุขภาพร่างกายที่ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง เพียงให้เขามีความเชื่อในพระเจ้า โดยถวายทรัพย์สินเงินทองอย่างสัตย์ซื่อ
คณะกรรมการศาสนศาสตร์ของกปท. เห็นด้วยกับคริสเตียนส่วนใหญ่ว่า “ข่าวประเสริฐแห่งความเจริญรุ่งเรือง” เป็นคำสอนเทียมเท็จ และเราสนับสนุนแนวทางของคณะทำงานโลซาน ในการต่อต้านคำสอนที่ผิดเพี้ยนนี้ดังต่อไปนี้
- เราเห็นด้วยว่า คำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เจาะจงคณะนิกายความเชื่อ เราสามารถพบคำสอนนี้ได้ในคริสตจักรในสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย (CCT) สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (EFT) และสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย ดังนั้น บทสรุปนี้ตั้งเป้าไปที่คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรือง และไม่ได้มีเจตนาวิจารณ์คณะนิกายหนึ่งนิกายใด
- เราเห็นด้วยว่า บางมิติของคำสอนนี้มีต้นกำเนิดจากพระคัมภีร์ แต่ในภาพรวมแล้วเราเห็นว่า คำสอนนี้เป็นเท็จและบิดเบือนพระคัมภีร์อย่างร้ายแรง และพฤติกรรมที่คำสอนนี้สนับสนุนทำให้เกิดการอภิบาลที่ทำร้ายศิษย์ และชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณที่ไม่เติบโต คำสอนเช่นนี้ไม่ให้ความหวังที่แท้จริงยั่งยืน และหันเหความสนใจของผู้ที่ได้รับฟัง ออกจากพระกิตติคุณและวิถีทางแห่งความรอดนิรันดร์
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการชุดนี้จึงได้ทำบทสรุปฉบับนี้ เพื่อปฏิเสธพฤติกรรมที่เกินขอบเขตของคำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรือง ที่ขัดกับพระคัมภีร์ และความเชื่อของคริสเตียนอย่างชัดเจน
คำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองแบ่งออกเป็น 2 คำสอนใหญ่ ๆ คือ คำสอนที่เน้น
- ความมั่งคั่งทางทรัพย์สินเงินทอง (Wealth): พระเจ้าปรารถนาให้ผู้เชื่อทุกคนร่ำรวย
- สุขภาพที่ดี (Health): พระเจ้าปรารถนาให้คริสเตียนทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การวางมือรักษาโรคเป็นส่วนสำคัญของคำสอนนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของฤทธิ์เดชของพระเจ้าผ่านผู้ที่มีของประทานในการรักษาโรค และบนความเชื่อของผู้ที่รับการรักษา
โดยคำสอนเท็จทั้งสองนี้ ตั้งบนพื้นฐานของความเชื่อ 4 ประการ
- พระเจ้าสัญญาว่าจะอวยพรอับราฮามให้มีความเจริญรุ่งเรือง และคริสเตียนซึ่งเป็นลูกหลานอับราฮามฝ่ายวิญญาณ ก็จะได้รับพระพรแห่งความเจริญรุ่งเรืองเช่นกัน
- การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนขององค์พระเยซูคริสต์นั้น ไม่เพียงเป็นการไถ่บาปของเรา แต่ยังเป็นการไถ่ถอนความเจ็บไข้ได้ป่วย ความยากจน และสิ่งชั่วร้ายทุกสิ่งในชีวิตคริสเตียนออกไปจนหมดสิ้นด้วย เราไม่เป็นหนี้อะไรอีกต่อไปแล้ว ผู้เชื่อเพียงเรียกร้องสิทธิแห่งความเจริญรุ่งเรืองของเรา แล้วเราก็จะได้รับแต่พระพรเท่านั้น
- ความเชื่อเป็นพลังที่ทำให้ความปรารถนากลายเป็นจริง ถ้าคริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าจะทำให้เขาเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าจะอวยพรให้เขาร่ำรวย และมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ฉะนั้นความเชื่อเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ผู้ที่ไม่ร่ำรวย หรือไม่หายจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะว่าเขาขาดความเชื่อ หรือมีบาปบางอย่างที่ซ่อนอยู่
- การถวายทรัพย์เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อภายใน หรือเป็น “เมล็ดแห่งความเชื่อ” ที่จะนำมาซึ่งการทวีคูณของความเจริญรุ่งเรือง ถ้าต้องการรับพระพรมาก ๆ ก็ต้องถวายมาก ๆ
ข้อตอบโต้
- เรายืนยันอำนาจมหัศจรรย์และฤทธานุภาพของพระเจ้าที่อยู่เหนือธรรมชาติ เราเชื่อในฤทธิ์เดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แต่ เราปฏิเสธความคิดที่สวนทางกับพระคัมภีร์ที่ว่า อำนาจมหัศจรรย์ของ พระเจ้าสามารถได้มาแบบอัตโนมัติ หรือสามารถควบคุมจัดการได้โดยเทคนิคต่างๆ ของมนุษย์ หรือ เปลี่ยนแปลงได้โดยการใช้คำ การกระทำ หรือพิธีกรรมต่างๆ อำนาจมหัศจรรย์ของพระเจ้าที่มากับการอธิษฐานเพื่อคนป่วยเป็นอำนาจอธิปไตยของพระเจ้าที่มาถึงเราได้โดยพระคุณของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว อำนาจของการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้คำ การกระทำ หรือพิธีกรรมต่างๆ ของผู้ที่อ้างว่ามีของประทานในการรักษาโรค หรือแม้แต่บนความเชื่อที่แรงกล้าของผู้ที่ได้รับการรักษา อำนาจอธิปไตยของพระเจ้านี้รวมไปถึงความเป็นจริงที่ว่า พระเจ้ายังอนุญาตให้มีโรคภัยไข้เจ็บเพื่อพระประสงค์ของพระองค์เอง ไม่ว่าจะเพื่อตีสอนคนของพระเจ้า ฝึกความอดทน ใช้ชีวิตเพื่อถวายเกียรติ หรือให้คนของพระองค์ถ่อมใจลง1
ในทำนองเดียวกัน ความมั่งคั่งทางทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ได้มาแบบอัตโนมัติ หรือสามารถควบคุมจัดการได้โดยการถวาย บ่อยครั้งข้อพระคัมภีร์ที่คำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองนำมาอ้างอิงเกี่ยวกับการถวาย (เช่น มก.10:30; ลก.6:38) ไม่เกี่ยวกับการถวายเลย จริงอยู่ การถวายเป็นหน้าที่ของคริสเตียนทุกคน แต่ไม่มีพระคัมภีร์ข้อใดที่สอนว่าถ้า “คุณถวาย 10 และจะได้รับ 1000 ถวาย 1,000 ก็จะได้รับ 100,000 Femi Adeleye ได้ให้ข้อคิดกับเราในที่ประชุมที่ Lausanne Cape Town 2010 ว่า "ถ้าไม่มีพระพรเรายังจะถวายหรือไม่ อะไรคือแรงจูงใจในการถวาย ถ้าการถวายคือการนมัสการอย่างหนึ่ง เรายังจะถวายให้กับพระเจ้าหรือไม่ถ้าพระองค์ไม่ให้อะไรเราเลยเป็นการตอบสนอง" ตามคำสอนของพระคัมภีร์คนยากจนก็สามารถนมัสการด้วยการถวายได้ เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นหญิงม่ายคนหนึ่งซึ่งเป็นคนขัดสน นำเหรียญทองแดงสองอันมาใส่ด้วย พระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายจริงๆ ว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้เป็นคนที่ใส่ไว้มากกว่าเพื่อน เพราะว่าทุกคนเอาเงินเหลือใช้มาใส่เพื่อถวาย แต่ผู้หญิงคนนี้ขาดแคลนที่สุด ยังเอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาใส่จนหมด” (ลูกา 21:2-4) - เราตระหนักดีว่าพระคัมภีร์ได้มีการสอนเรื่องความรุ่งเรืองของมนุษย์ และพระคัมภีร์ ได้รวมเอา พระพรต่าง ๆ (รวมทั้งสุขภาพที่ดีและความมั่งคั่ง) ของพระเจ้าไว้ในคำสอนพระคัมภีร์ด้วย ซึ่งจะต้องทำการเรียนรู้ และสอนกันในบริบทของพระคัมภีร์ทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ทั้งเล่ม เราจึงไม่ควรที่จะทำการแยกวัตถุสิ่งของออก จากมิติฝ่ายวิญญาณในลักษณะ dualism ที่ไม่ใช่เป็นคำสอนของพระคัมภีร์ แต่เราปฏิเสธความคิดที่สวนทางกับพระคัมภีร์ที่ว่า สวัสดิภาพทางจิตวิญญาณสามารถวัดได้โดยสวัสดิภาพทางวัตถุกายภาพ หรือความคิดที่ว่า ความรุ่งเรืองเป็นเครื่องหมายแห่งการอวยพรจากพระเจ้าเสมอ หรือความคิดที่ว่า ความยากจน หรือความเจ็บป่วย เป็นเครื่องหมายของการขาดความเชื่อ หรือของการทำบาป พระคัมภีร์ปฏิเสธความเชื่อมโยงประเภทนี้อย่างชัดเจน เช่น
- ความมั่งคั่งที่ได้มาโดยการกดขี่ หลอกลวง หรือการทุจริตไม่ใช่พระพรของพระเจ้า
- ความลำบากของโยบเกิดขึ้นเพราะความสัตย์ซื่อและความชอบธรรมของเขา
- นอกจาก นี้ในพระธรรมยอห์น 9:1-3 ได้แสดงให้เราเห็นความทุกข์ยากบางครั้งก็เกิดขึ้นเพื่อ พระราชกิจของพระเจ้าจะปรากฏในตัวผู้ที่ได้รับความทุกข์
ยื่งไปกว่านั้น 2 คร. 8:9 สอนเรื่องการเสียสละโดยการถวายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยเปรียบเทียบกับการเสียสละของพระเยซู (ในแนวของฟป. 2:6-7) ที่พระองค์ผู้ซึ่งมีสถานะเป็นพระเจ้า (“มั่งคั่ง”) แต่เสียสละที่จะลดพระองค์เองลงมาเป็นมนุษย์ และสิ้นพระชนน์บนไม้กางเขน (“ยากไร้”) เพื่อเราจะได้รับความรอด (“มั่งคั่ง”) ผ่านการเสียสละของพระองค์ พระธรรมตอนนี้ไม่ได้สอนว่าคริสเตียนทุกคนจะมั่งคั่งทางทรัพย์สินเงินทอง
ในด้านกลับกัน พระเจ้าไม่ได้รับเกียรติสูงสุดจากชีวิตที่ขอแล้วได้พระพรมากมายจากพระองค์ แต่จากชีวิตที่พึ่งและพบความเพียงพอในพระเจ้า ท่ามกลางความสูญเสียและยากลำบากของเขา John Piper เสนอว่า “พระเจ้าได้รับเกียรติสูงสุด เมื่อเราพบว่าพระองค์เท่านั้นที่พอเพียงในชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความสูญเสียและทุกข์ยากของเรา” อีกนัยหนึ่งก็คือ พระเจ้าได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตที่ขาดมากกว่าในชีวิตที่เกิน เพราะชีวิตที่ขาดเท่านั้นที่เราสามารถสัมผัสได้ว่า พระเจ้าเพียงพออย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ
Rick Warren ได้พูดคล้ายๆกันว่า “คุณจะไม่รู้อย่างแท้จริงว่าพระเจ้าคือทุกสิ่งที่คุณต้องการจนกว่า พระองค์จะเป็นทุกสิ่งที่คุณเหลืออยู่” John Oswalt กล่าวว่า “คำสาปที่เลวร้ายที่สุดของความอยู่ดีกินดีคือการที่สภาพเช่นนี้หลอกให้เราเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้อื่น” เขาเสนอต่อไปว่า “เราจะเรียนรู้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต ... เมื่อเราเข้าใจว่าพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถดับกระหายชีวิตของเราได้ เราจะไม่พยายามแสวงหาน้ำดื่มเพื่อดับกระหายชีวิตของเราด้วยการดื่มน้ำทะเลซึ่งจะทำให้เรายิ่งกระหายมากกว่าเดิมอีก” - เราปฏิเสธคำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่สนองกิเลสความโลภ ซึ่งเป็นการกราบไหว้รูปเคารพ (พระเจ้าแห่งทรัพย์สินเงินทอง) อย่างหนึ่ง โดยการเน้นความเจริญรุ่งเรืองและความสำเร็จส่วนบุคคล คำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองนี้เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับการเงินอย่างต่อเนื่อง ราวกับว่าการมีทรัพย์สินเงินทองคือจุดสูงสุดของความดีงามทั้งปวง และมองข้ามอันตรายของความเจริญรุ่งเรืองและบาปแห่งความโลภที่ พระคัมภีร์นำเสนออย่างชัดเจน2 คำสอนนี้ไม่นำเสนอพระวจนะของ พระเจ้าให้ครบถ้วน แต่เลือกที่จะพูดสิ่งที่ผู้คนต้องการที่จะได้ยิน แทนที่จะมุ่งเน้นการอธิบายให้คนเข้าใจเกี่ยวกับความบาป การกลับใจใหม่ ความเชื่อวางใจ และความหวังนิรันดร์ John Piper สรุปว่า “สาระสำคัญของพระกิตติคุณแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกรูปแบบคือ [คำสอนนี้] ปล่อยให้ผู้คนตกอยู่ในกิเลสตัณหาเดิมๆของพวกเขา และให้พระเยซูสนองความต้องการเหล่านั้น....[พระเยซู] ไม่ได้เสด็จมาเพื่อสนองและรับใช้ความต้องการแห่งเนื้อหนังของคุณ พระองค์เสด็จมาเพื่อให้ความต้องการใหม่กับคุณ นี่คือความหมายของการบังเกิดใหม่.... และ[นักเทศน์]จำนวนมากปล่อยให้ผู้คนตกอยู่ในกิเลสตัณหาเดิมๆของเขา และเพียงเพิ่มอำนาจวิเศษของพระเยซูเข้าไปเท่านั้น [ความเชื่อแบบนั้น] ไม่ใช่พระกิตติคุณ”
- เราเห็นปัญหาความยากจนในสังคมไทยที่เป็นผลจากความบาปของมนุษย์ แต่เราเชื่อว่าคำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองไม่ได้เป็นการตอบสนองที่มาจากพระคัมภีร์ หรือเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความยากจนของสังคม
- คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองนี้อาจจะทำให้บางคนมีฐานะดีขึ้น โดยเฉพาะทำให้ผู้ที่เทศนาสั่งสอนนั้นร่ำรวย แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย และกลับต้องแบกรับภาระแห่งความผิดหวังเพิ่มขึ้นด้วย
- คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองเน้นสาเหตุทางจิตวิญญาณว่าเป็นต้นกำเนิดของความยากจน แต่ไม่ให้ความสนใจกับสาเหตุทางเศรษฐกิจและการเมือง และไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับความ อยุติธรรม การแสวงหาผลประโยชน์ ฯลฯ
- ฉะนั้น คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้คนยากจนกลายเป็นเหยื่อโดยทำให้พวกเขารู้สึกว่าความยากจนคือความผิดของตัวเขาเอง แต่ไม่พยายามแก้ไขปัญหาและประณามผู้ที่ใช้ความโลภของตัวเองทำให้ผู้อื่นพบกับความยากจน - พระคัมภีร์ที่ใช้ในการอธิบายและการสนับสนุนคำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรือง มักจะถูกบิดเบือนความหมายอย่างร้ายแรง เพื่อให้พระคัมภีร์สนับสนุนคำสอนของเขาเอง และนำมาใช้ในทางที่ขัดแย้งกับคำสอนพื้นฐานของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ยกตัวอย่างเช่น คำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองอ้างอิง ปฐก 1:26 และนำเสนอว่าเมื่อคริสเตียนเป็นผู้ครอบครองสรรพสิ่งของพระเจ้าแล้ว เราก็ย่อมเป็นผู้ที่เจริญรุ่งเรืองทุกคน คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองเน้นคำว่า “ครอบครอง” ในพระคัมภีร์ข้อนี้ และนำเสนอว่า พระเจ้าได้มอบสิทธิในการครอบครองแผ่นดินโลกนี้ให้กับผู้ที่เชื่อในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าทุกคน3 แต่หากเราพิจารณาพระธรรมข้อนี้ภายใต้บริบทของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เราจะเห็นว่ามนุษย์เป็นเพียง ผู้อารักขาดูแล และไม่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าของโลกนี้แต่อย่างไร องค์พระผู้เป็นเจ้ายังคงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าของที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์
อสย. 53:4-5: ความจริงแล้ว ข้อพระคัมภีร์ข้อนี้เป็นคำพยากรณ์การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนซึ่งชาวยิวห้ามอ่านกัน โดยคำว่า “หายดี” นั้นมีความหมายว่า “ยกบาป” ตามบริบท และคำสอนใน 1 ปต. 2 :24 “พระองค์ได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาปได้และดำเนินชีวิตตามคลองธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายได้รับการรักษาให้หาย” ซึ่งก็ชัดเจนจากการเขียนในลักษณะไวยกรณ์ชาวยิวที่รู้จักกันในรูปแบบการสัมผัสแบบคู่ขนาน (Parallel synonymous) ว่าบาดแผลก็คือบาป และการหายก็คือการยกบาป ไม่ใช่เป็นการหายโรคแต่ประการใด - เราเห็นการเจริญเติบโตของจำนวนผู้ที่ประกาศตัวเองว่าเป็นคริสเตียนในคริสตจักรเลือกนำคำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองมาใช้ แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไม่ได้หมายความว่าความเชื่อนี้ถูกต้อง ความนิยมชมชอบไม่ใช่หลักฐานของความจริงความถูกต้องและผู้คนจำนวนมากก็ยังสามารถถูกหลอกได้
- เราสังเกตว่าคนจำนวนมากถูกหลอกโดยคำสอนดังกล่าว ให้เชื่อในความเชื่อที่ผิดเพี้ยน และให้มีความคาดหวังที่เกินจริง และเมื่อความคาดหวังเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง หลายคนก็เลิกเชื่อในพระเจ้า และออกจากคริสตจักรไปเลย
- คำสอนแห่งความเจริญรุ่งเรืองได้ละทิ้งหลักคำสอนที่เป็นพื้นฐานของความเชื่อในสาย Protestant เช่นความมีสิทธิอำนาจสูงสุดศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์ในฐานะเป็นพระวจนะของพระเจ้า และความเชื่อที่มีกางเขนของพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง
หมายเหตุ : ปัจจุบันคำสอนเท็จแห่งความเจริญรุ่งเรืองได้พัฒนาออกมาในรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้คำศัพท์ที่เราอาจจะคุ้นเคยที่มาจากความเชื่อพื้นฐานของคริสเตียนในสาย Protestant เช่นการใช้คำว่าพระคุณ (grace) พระพร (blessings) หรือแม้แต่ พระกิตติคุณที่สมบูรณ์ (holistic gospel)
1 อย่างเปาโลใน 2 คร. 2:7 “และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเองจนเกินไป เนื่องจากที่ได้เห็นสำแดงมากมายนั้น ก็ทรงให้มีหนามใหญ่ในเนื้อของข้าพเจ้า หนามนั้นเป็นทูตของของซาตานคอยทุบตีข้าพเจ้าเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป”
2 1ทธ. 6:6-10 เตือนให้เราระวังเรื่องความอยากร่ำรวย และความไม่เพียงพอ พระคัมภีร์ตอนนี้ได้เตือนให้คริสเตียนระวังความอยากรวย
3 คำ ๆ นี้มาจากคำในภาษาฮิบรู וְיִרְדּוּ ซึ่งในบริบทของพระธรรมตอนนี้ให้ความหมายของการเป็นผู้สำเร็จราชการของพระเจ้า (vice-Regent) และเป็นบทบาทที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์ทุกคน (และไม่ใช่เฉพาะกับคริสเตียนเท่านั้น) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในพระฉายาของพระองค์
แนวทางการพิจารณาเรื่องการสอนผิด-เทียมเท็จในคริสตจักร
แนวทางในการพิจารณาว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือ กลุ่มใด สอนผิดหรือมีการสอนเทียมเท็จ นั้นดูได้จากแนวทางการปฏิบัติหรือความเชื่อของบุคคลหรือกลุ่มนั้นที่แสดงออก ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ดังนี้
1. คำสอนหรือความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
- เขาเหล่านั้นมีความเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าและองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระองค์เป็นแหล่งความรอดเดียวหรือไม่?
- การสอนเทียมเท็จจะมีการเพิ่มเติมสิ่งอื่นที่เท่าเทียมเข้ามาควบคู่กับสิทธิอำนาจของพระเยซู
- มีรูปแบบพิธีกรรม หรือ ลักษณะการแสดงออกในที่ประชุม ที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติหรือการนมัสการทั่วไปของคริสตจักร และให้ความสำคัญกับพิธีกรรมเหล่านั้นเท่าเทียมกับ พระคริสต์
- บางครั้งอำนาจหรือความสำคัญ ที่เท่าเทียมพระคริสต์เหล่านี้ออกมาในรูปแบบของกฎ ข้อบังคับ หลักข้อเชื่อที่ตั้งขึ้น หรือมีผู้นำที่มีสิทธิอำนาจเท่าเทียมกับพระคริสต์
- หรืออีกนัยหนึ่งเขาจะบอกว่าเชื่อพระคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด แต่จะมีการเพิ่มเติมว่า ผู้เชื่อต้องการ หรือ ต้องมีสิ่งอื่นๆ อีกความรอดที่มีอยู่ถึงจะสมบูรณ์ และจะทำให้มีความมั่นใจในการไปสวรรค์
- คำสอนเทียมเท็จจะสอนว่าความรอดมาทางพระเยซูคริสต์ แต่จะต้องเพิ่มบางสิ่งบางอย่างที่เฉพาะเขาหรือกลุ่มของเขาเท่านั้นที่สามารถหยิบยื่นหรือจัดหาให้ได้
- บางกลุ่มจะไม่ให้ความสำคัญกับพระเยซูคริสต์เลย มีแต่เพียงการยกย่องผู้นำเทียมเท็จเท่านั้น ถ้ามีการกล่าวถึงพระคริสต์ก็เพียงเพื่อสนับสนุนคำสอนหรือสิทธิอำนาจของตนเอง
- เขายกย่องให้ผู้ฟัง หรือสาวก ติดตามพระเยซู หรือตัวของเขาหรือคณะของเขามากกว่า?
2. ผู้สอนเทียมเท็จมักสร้างกระแสความหวาดกลัวให้กับ ผู้ที่ติดตามหรือสาวก พวกเขาจะได้รับการสอนว่าความรอดหรือพระพรต่างๆ จะต้องมาจากกลุ่มของผู้นำเทียมเท็จเท่านั้น
- ถ้าแยกจากกลุ่มเรา หรือไม่ทำตามสิ่งที่เราบอกผู้ติดตามจะสูญเสียความรอด และพระพร
- จะมีการเน้นเรื่องสิทธิอำนาจและยกย่องตัวผู้นำเทียมเท็จเป็นอย่างมาก ผู้นำเทียมเท็จ (ทั้งหญิงและชาย) เหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่ แสวงหาเกียรติ ชื่อเสียง เงินทอง หรือความสามารถที่จะควบคุมและมีอำนาจเหนือผู้คนเพื่อยืนยันถึงคุณค่าของตนเองจากการได้รับการยอมรับจากคนหมู่มาก
- ผู้นำฝ่ายวิญญาณที่แท้จริงมีเป้าหมายเดียวในชีวิตของเขา คือ การยกย่องและสำแดงสง่าราศีของพระคริสต์
- ผู้นำเทียมเท็จมักจะอ้างว่าได้รับการสำแดงพิเศษ หรือนิมิต เป็นส่วนตัวและเฉพาะเจาะจงจากพระเจ้า และบังคับให้สาวกเชื่อฟัง การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้สอนเท็จมีสิทธิอำนาจของพระเจ้า หรือคำพูดของเขาเท่าเทียมกับคำพูดของพระเจ้า (ซึ่งมีแต่พระเยซูเท่านั้นที่สามารถอ้างสิทธิอำนาจนี้ได้)
อนึ่งคำทำนาย หรือพยากรณ์ของคนเหล่านี้ บางที่เป็นเพียงแค่คำพูดกว้าง ๆ ซึ่งยากแก่การที่จะพิสูจน์ได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่พยากรณ์ หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นจริง - มักจะมีคำมั่นสัญญาในเรื่องเกี่ยวกับพระพร หรือ การอวยพร ที่มาถึงสาวก ถ้าปฏิบัติหรือทำตามสิ่งที่ผู้นำเทียมเท็จบอกให้ทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือภายหลังการประชุม หรือผลของการประชุมจะมีการเรียกร้องให้บรรดาสาวกถวายทรัพย์ หรือถวายสิ่งที่มีอยู่เพื่อแสดงถึงความเชื่อและเป็นจุดเริ่มต้นของการอวยพรที่จะมาถึงในภายหลัง โดยมีการอ้างพระคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มาลาคี 3:10
3. ประการสุดท้ายของผู้นำฝ่ายวิญญาณเทียมเท็จ คือไม่ปรารถนาให้สมาชิกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ สมาชิกไม่สามารถศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวได้ จะต้องคอยพึ่งพาคำสอนจากผู้นำฝ่ายเดียว ไม่สามารถแยกเป็นอิสระจากผู้นำได้ สาวกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และความสามารถในการแยกแยะ หรือความเป็นเหตุเป็นผล จะต้องเชื่อฟังผู้นำเพียงคนเดียวเท่านั้น
4. ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่ได้กล่าวไว้จะเป็นหัวข้อที่สำคัญ ๆ ที่มักจะเห็นในผู้นำ หรือ คำสอนที่เทียมเท็จ