ความหมายแท้ของคำว่า เรมา (Rhema)
ปัจจุบันนี้มีคริสเตียนบางกลุ่มนิยมเน้นใช้คำว่า “เรมา” (rhema) อย่างมาก โดยอ้างว่า “เรมา” คือถ้อยคำที่ผู้นำได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า ถือเป็นสิทธิอำนาจสูงสุด หรือ เป็นวิธีการเปิดเผยของพระเจ้าที่ให้แก่ผู้นำโดยตรง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่า ความหมายแท้จริงของคำว่า “เรมา” ตามพระคริสตธรรมคัมภีร์คืออะไร? มีความหมายตามที่บางกลุ่มได้อ้างหรือไม่?
ในบทความข้างล่างนี้ ศจ.ดร. เสรี หล่อกัณภัย เลขาธิการสมาคมพระคริสตธรรมใทยได้อธิบายความหมายของคำว่า “เรมา” (rhema) ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยอ้างอิงจากต้นฉบับภาษากรีก
ความหมายของคำว่า “เรมา” ในพระคัมภีร์
คนกลุ่มหนึ่งนิยมใช้คำว่า “เรมา” หรือเน้นย้ำความสำคัญของคำนี้มากกว่าคำว่า “โลกอส” (logos) โดยพยายามอธิบายว่า “เรมา” (rhema) หมายถึง “คำตรัสของพระเจ้าที่ถูกเปิดเผยให้แก่ผู้นำ (ผู้เชื่อ) เป็นการพิเศษ” ส่วน “โลกอส” เป็น “พระวจนะของพระเจ้าที่เปิดเผยแบบธรรมดา คือ พระคัมภีร์ทั้งเล่ม” แต่นักวิชาการพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เห็นว่าทั้ง “เรมา” และ “โลกอส” มีความหมายเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกันเลย
เมื่อพิจารณาการใช้คำว่า “เรมา” ในพระคัมภีร์ภาษากรีกแล้ว เราได้พบว่า มีการใช้คำนี้มากถึง 68 ครั้ง และบางครั้งก็ใช้ในความหมายว่าเป็น “พระวจนะของพระเจ้า” หรือ ข้อเขียนในพระคัมภีร์ เช่น มัทธิว 4:4 “...ด้วยพระวจนะทุกคำ...” แต่ที่น่าสนใจคือบางครั้งคำนี้ถูกใช้ว่า เป็นคำพูดของมนุษย์ที่พระเจ้าจะพิจารณาในวันพิพากษาด้วย เช่น “ส่วนเราบอกพวกท่านว่า คำ (เรมา) ที่ไม่เป็นสาระทุกคำซึ่งมนุษย์พูดนั้น มนุษย์จะต้องรับผิดชอบถ้อยคำเหล่านั้นในวันพิพากษา” (มธ. 12:36) บางครั้งก็หมายถึงคำตรัสของพระเยซู หรือถ้อยคำของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นคำตรัสกับบุคคลใดเป็นพิเศษ (มก. 9:32 ดู ลก. 2:50)
คำว่า “เรมา” ยังสามารถแปลได้ว่า “เรื่องราว” หรือ “สิ่ง” เช่น “เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด (เรมา) ที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้” (ลก. 1:37; ดู ลก. 2:19) นอกจากนี้คำว่า “เรมา” ยังหมายถึง คำพูดของทูตสวรรค์ (ลก. 1:38) สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “เรมา” นี้ ถึงแม้จะอยู่ในบริบทเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเดียวกัน เช่น ลูกา 2:50-51 “แต่บิดามารดาไม่เข้าใจคำ(เรมา) ที่พระเยซูกล่าวกับเขาทั้งสอง แล้วพระกุมารก็ลงไปกับบิดามารดา ยังเมืองนาซาเร็ธ และยอมเชื่อฟังเขาทั้งสอง ส่วนมารดาเก็บเรื่องราว (เรมา) ทั้งหมดนั้นไว้ในใจ” จากข้อความตอนนี้เราจะเห็นว่า “เรมา” สามารถแปลว่า “คำ” ในข้อหนึ่ง และสามารถแปลว่า “เรื่องราว” ในอีกข้อหนึ่งได้ด้วย
จากบทความข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่า “เรมา” ไม่ได้มีความหมายว่าเป็น “คำตรัสของพระเจ้าที่เปิดเผยแก่คนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษ” อย่างที่บางคนได้อ้าง